ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2516 เดิมทีเดียวเป็นภาควิชาในสังกัด สถาบันราชมงคลเทเวศร์ ต่อมาจึงย้ายการจัดการเรียนการสอนมาที่ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี และเข้าสังกัดคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี จนถึงปัจจุบัน
วิศวกรรมเครื่องกลเป็นสาขาวิชาที่มีความโดดเด่นด้านการออกแบบชิ้นส่วนเครื่องกลเป็นฐานเดิม ซึ่งเครื่องจักรซีเอ็นซีมีส่วนประกอบสำคัญ คือชิ้นส่วนทางกลที่ได้รับการออกแบบ ผลิต และประกอบขึ้นมาด้วยกระบวนการที่ให้ความสำคัญกับความแม่นยำของชิ้นส่วนทางกลสูง นักศึกษาวิศวกรรมเครื่องกลจึงมีความได้เปรียบในการเรียนรู้การ ซ่อม สร้าง เครื่องจักรซีเอ็นซี กว่าสาขาวิศวกรรมอื่นๆ เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาได้มีโอกาสรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี การควบคุมเครื่องจักรซีเอ็นซีระดับสูงจาก Delta Electronic Inc. Taiwan ผู้ผลิตระบบอัตโนมัติรายใหญ่ของเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไตหวัน เป็นผู้ผลิตเครื่องจักรซีเอ็นซีส่งออกเป็นสินค้าหลัก จึงมีความเชียวชาญเทคโนโลยีด้านนี้เป็นอย่างสูง
ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล โดย ผศ.ดร.มนูญศักดิ์ จานทอง อาจารย์ประจำด้านวิศวกรรมระบบควบคุมอัตโนมัติ และ ดร.วารินทร์ ชลหาญ ผู้เชียวชาญการทำรีโทรฟิต บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ภายใต้การสนับสนุนของ ผศ.ดร.สุมนมาลย์ เนียมหลาง และ รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์ ภูมิกิตติพิชญ์ รองอธิการบดี จึงนำไปสู่ความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยี การทำซีเอ็นซีรีโทรฟิต ให้แก่นักศึกษาของทางภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล และทาง บริษัท พรีซิชั่น แมชชีน คอนโทรล จำกัด บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันมอบอุปกรณ์ไฟฟ้าควบคุมเครื่องจักร เดลต้าซีเอ็นซี โซลูชั่น มูลค่า 350,000 บาท ให้แก่ทางภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล เพื่อใช้ในการลงมือปฏิบัติการทำรีโทรฟิตกับเครื่องจักรซีเอ็นซีอุตสาหกรรม
การถ่ายทอดเทคโนโลยี การทำรีโทรฟิตเครื่องจักรซีเอ็นซี จัดทำเป็นหลักสูตรอบรมภาคทฤษฎี และ ภาคปฏิบัติโดยการลงมือทำรีโทรฟิตเครื่องจักรจริง โดยมี ดร.วารินทร์ ชลหาญ เป็นวิทยากรด้านระบบควบคุมไฟฟ้าเครื่องจักร ดร.มนูญศักดิ์ จานทอง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ และมีนักศึกษาทำเป็นโครงงานวิทยานิพนธ์ ความรู้ภาคทฤษฎีเริ่มตั้งแต่การปูพื้นฐานโครงสร้างทางกลของเครื่องจักรซีเอ็นซี การทำงานของอุปกรณ์ทางกลทุกชิ้น ความรู้ทางระบบควบคุมไฟฟ้าจะเริ่มบรรยายตั้งแต่ เซ็นเซอร์ เซอร์โวมอเตอร์ เซอร์โวไดร์ว ระบบคอนโทรลแบบป้อนกลับ สปินเดิลอินเวอร์เตอร์ ซีเอ็นซีพีแอลซีซึ่งเป็นชุดแลดเดอร์ที่มีความสลับสับซับซ้อน ระบบสื่อสารของอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในตู้ควบคุม การเดินสายไฟฟ้าเชื่อมต่ออุปกรณ์ทุกชิ้น การปรับตั้งพารามิเตอร์ของคอนโทรลเลอร์และเซอร์โว การเขียน M-Code และ Macro Programming รวมถึงระบบไฟฟ้าอุตสาหกรรมที่นักศึกษาจำเป็นจะต้องใช้ในการทำรีโทรฟิตเครื่องจักรซีเอ็นซี